เมื่อมีอำนาจมาก ต้องทำตัวให้เล็กลง


PQ

เป็นเวลา2 เดือนมาแล้ว ที่หลายคนยังกังขาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำขุนทหารเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่า จะทำอะไร นอกจากหยุดยั้งความแตกแยก หยุดผลกระทบที่เกิดในด้านเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อมาดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บอกไว้ชัดเจนใน มาตรา 27 ว่า ให้มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ “ศึกษาและเสนอแนะ” ให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ทั้งสิ้น 11 ด้าน คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองส่วนท้องถิ่น  การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน  สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่นๆ

เพราะนี่คือ”หัวใจ”ของปัญหาทั้งหลายของประเทศในขณะนี้  โดยไม่ต้องระบุให้มันชัดเจนลงไปว่า แต่ละเรื่องได้สร้างรอยร้าว สร้างผลกระทบ สร้างความสูญเสียอย่างไรบ้าง และที่สำคัญเรื่องต่างๆเหล่านี้ถูกสังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูป และเชื่อว่าได้มีการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเอาไว้มากแล้ว

เมื่อก่อนนี้มีหลายประเทศค่อนข้างกังวลในเรื่อง”สิทธิมนุษยชน” และการควบคุมจำกัดสิทธิ”สื่อมวลชน” เนื่องจากขณะนี้ยังคงประกาศ”กฎอัยการศึก” รวมทั้งยังมีเรื่องที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วย  ซึ่งต้องขอบคุณทางกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความกระตือรือร้นเร่งเดินหน้าทำความเข้าใจ ได้เน้นย้ำว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยังต้องยั้ง”กฎอัยการศึก” เอาไว้ ก็เพื่อส่งเสริมบรรยากาศในประเทศให้เกิดความปรองดองและสมานฉันท์ทั้งหมด เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นระหว่างคนในสังคมไทย โดยมีความจำเป็นต้องควบคุมสื่อก็เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างกระแสในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง”สื่อออนไลน์”ที่มีความรวดเร็วและไปได้ไกล เป็นตัวการบั่นทอนความปรองดอง ตามที่คสช.ตั้งใจจะให้เกิดการ”ปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน”ให้เกิดขึ้น

มาถึงวันนี้ น่าดีใจที่รัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย มีความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น โดยประเทศเหล่านี้จะไม่ย้อนกลับไปถามหรือประณามเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ แต่เขาจะสนใจสอบถามถึงรายละเอียดการดำเนินการตามขั้นตอนโรดแม็พ  อาทิ การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งมีประเด็นการสรรหาสมาชิก สนช.ทั้ง 200 คน เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการจัดทำกฎหมายนำไปสู่”การเลือกตั้ง” ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องชี้แจงตอกย้ำสร้างความมั่นใจ ควบคู่กับคสช.ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้กับต่างชาติ เพื่อให้นานาชาติเห็นถึงเจตนาและความมุ่งมั่นของ คสช.

นี่เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ดีที่สุด เท่าที่เคยมีมา ทำให้มองเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะออกมานั้น น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเช่นกัน หากไม่มีใครเอารัฐธรรมนูญไปเป็นเครื่องมือในการ คงอยู่ แสวงหา และสืบทอดอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับอย่างที่ผ่านมา

จะเห็นได้จากการที่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบ มิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด นั่นคือต้องการปิดฉากธุรกิจการเมือง

นี่จึงเป็นการปรามที่ไม่แตกต่างต่างการปราบ คนที่จะคิดกระทำการที่ผิดกฎหมาย ไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรม ไร้คุณธรรม จริยธรรม ให้ออกจากวงการ การเมือง นี่อาจจะทำให้นักการเมืองดีๆเสียขวัญบ้างก็ยังดีกว่าเสียชาติเกิดไม่ใช่หรือ

ที่สำคัญก็ต้องติดตามดูบทบาทของเอ็นจีโอ ที่จะให้ความสนใจและตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ว่าจะเป็นอย่างไร จะให้คุณกับต่างชาติ ให้โทษกับประเทศไทยอีกหรือไม่อย่างไร รวมทั้งประเทศตะวันตกที่ไม่อาจเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตย จะมีผลอย่างไร กับการที่ประเทศไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ด้วยบริบทและความต้องการของไทยเรา

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องพูดถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และคนใกล้ชิด ว่า เมื่อมีอำนาจมากขึ้น จะทำตัวให้เล็กลงได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นจุดตายจากการมีอำนาจ หรือที่เรียกว่า”บ้าอำนาจ”นั่นเอง

 


บทความโดย กองบรรณาธิการ

 

ใส่ความเห็น